วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บทบาทครูและผู้ปกครองในการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะคณิตศาสตร์ให้แก่เด็กปฐมวัย

            การจัดการเรียนการสอนเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยด้านคณิตศาสตร์นั้นมีความแตกต่างไปจากการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้เนื่องจากเด็กปฐมวัยมีธรรชาติ ความสามารถ ความสนใจ ในการเรียนรู้และรับรู้ที่แตกต่างไปจากเด็กวัยอื่น ๆ เช่นเด็กปฐมวัยไม่สามารถนึกภาพตามที่ครูสอนหรือยกตัวอย่างได้(เด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้จากนามธรรม) เด็กปฐมวัยไม่สามารถนั่งนิ่ง ๆ นาน ๆ ได้(เด็กมีความสนใจสั้นและมีความสามารถในการควบคุมตนเองให้สนใจหรือทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งน้อย) หรือเด็กปฐมวัยมีจินตาการและยึดตนเองเป็นสำคัญค่อนข้างมาก(เด็กมีความเข้าใจเหตุผลความเป็นจริงค่อนข้างน้อยหรืออาจไม่มีในบางคน) เป็นต้น
            ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ทุกฝ่ายในการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์แก่เด็กปฐมวัยจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวข้างต้น รวมถึงมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยปฐมวัยพ.ศ. 2546 การวางแผนการจัดกิจกรรม เทคนิควิธีการในการจัดกิจกรรม การใช้สื่อ การจัดสภาพแวดล้อม และการประเมินพัฒนาการ เป็นอย่างดี  อีกทั้งต้องเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองในการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์แก่เด็กปฐมวัยอย่างชัดเจนและถูกต้อง จึงจะช่วยให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ได้อย่างมีความสุขสนุกสนานเพลิดเพลิน เกิดความคิดรวบยอดและมีทักษะพื้นฐานที่ดีในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ในระดับชั้นต่อไป
            บทบาทของครูปฐมวัยในการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์แก่เด็กปฐมวัยได้แก่
                1. การวางแผนการสอน     ควรเน้นเด็นเป็นสำคัญ ซึ่งในการวางแผนการสอนหรือการจัดการเรียนรู้เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ให้แก่เด็กปฐมวัยนั้น ครูจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ธรรมชาติ   ความสนใจ ความสามารถ ของเด็กปฐมวัย ทั้งนี้เพื่อให้แผนการจัดกิจกรรมนั้นมีความยาก - ง่าย เหมาะสมกับเด็กในแต่ละระดับชั้น  นอกจากนี้ครูต้องศึกษาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อจะได้วางแผนการจัดกิจกรรมให้ตรงกับปรัชญา หลักการและจุดมุ่งหมายของการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างถูกต้อง
                2. การเตรียมสื่อวัสดุอุปกรณ์   ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการเตรียมสื่อ วัสดุอุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้บ้างตามโอกาสอันสมควร สื่อ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ควรเลือกใช้ของจริง และเป็นของที่เด็กสามารถพบเห็นได้เป็นประจำ หากไม่สามารถจัดหาของจริงได้ควรเลือกใช้ของจำลองหรือของปลอม สำหรับภาพถ่ายหรือภาพวาดนั้นควรเป็นลำดับสุดท้ายในการนำมาใช้เป็นสื่อการจัดกิจกรรม
                3. การเตรียมการจัดกิจกรรม     ควรเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการเตรียมการจัดกิจกรรมในบางโอกาส เช่น จัดโต๊ะ จัดเก้าอี้ จัดป้ายนิเทศ จัดวางข้าวของที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดกิจกรรม และทำความสะอาด จัดเก็บเมื่อใช้เสร็จแล้ว
                4. การดำเนินการจัดกิจกรรม    ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือปฎิบัติ ค้นคว้า ทดลอง ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าในการเรียนรู้ หาคำตอบ ด้วยตัวของเด็กเองให้มากที่สุด ซึ่งบทบาทของครูในการดำเนินกิจกรรมนั้นครูควรเป็นผู้ชี้แนะ แนะนำ ช่วยเหลือ มากกว่าการออกคำสั่ง หรือให้เด็กทำตาม  ขณะจัดกิจกรรมครูต้องคอยกระตุ้นการเรียนรู้ การคิด การสังเกตุ ฯลฯ ด้วยการตั้งคำถามแบบปลายเปิด เช่น ทำไม......อย่างไร.....เพราะเหตุใด.....อะไรบ้าง......เป็นต้น  ครูควรใช้เทคนิควิธีการในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เหมาะกับความสามารและตรงกับความสนใจของเด็ก  ซึ่งกิจกรรมที่จัดควรเป็นกิจกรรมที่มีความหมายกับตัวเด็ก สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
                5. การวัดผลประเมินผล   ขณะดำเนินกิจกรรมนั้น ครูควรสังเกตุ บันทึกพฤติกรรมของเด็กเป็นรายบุคคล เพื่อนำผลที่ได้จากการสังเกตุและบันทึกนั้นมาเป็นแนวทางในการส่งเสริม พัฒนาแก้ไข และปรับปรุง เด็กต่อไป ซึ่งในการวัดผลประเมินผลนั้นครูควรใช้วิธีการที่หลากหลาย รวมถึงการประเมินผลตามสภาพที่แท้จริง เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กที่ถูกต้องเป็นจริง   ในการการประเมินเด็กนั้นครูไม่ควรเปรียบเทียบเด็กกับเด็กคนอื่น ๆ และประเมินเด็กโดยรอบด้าน และนำผลที่ได้จากการวัดและประเมินนั้นมาใช้ในการวางแผนการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป
            ในการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น คงไม่ประสบความสำเร็จหากไม่ได้รับความร่วมมือหรือความช่วยเหลือจากทางบ้าน ทั้งนี้เพราะคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในขณะที่ครูจัดกิจกรรมที่โรงเรียนเท่านั้น หากแต่เกิดได้ทุกที่ รวมถึงที่บ้านด้วย ดังนั้นเมื่อเด็กอยู่ที่บ้านพ่อแม่ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ กับผู้ใหญ่เพื่อให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้รวมถึงสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลในครอบครัวไปพร้อม ๆ กันด้วย
            บทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองในการส่งเสริมพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยเมื่อเด็กอยู่ที่บ้าน เช่น
            1. ในครัว พ่อแม่ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการจัดเตรียม การประกอบอาหาร ฯลฯ กิจกรรมในครัวเด็กจะได้พัฒนาทักษะการสังเกตุและเรียนรู้เกี่ยวกับ การนับ การตวง การแบ่ง  การจัดเรียงลำดับ เป็นต้น
            2. ในสวน พ่อแม่ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการจัดสวน ปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ ฯลฯ กิจกรรมในสวนเด็กจะได้พัฒนาทักษะการสังเกตุและเรียนรู้เกี่ยวกับ การจัดประเภท  การจัดหมวดหมู่  การกะระยะ ขนาด เป็นต้น
            3. การซักผ้า ล้างรถ เล่นเกม ฯลฯ พ่อแม่ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในครอบครัว เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับการตวง การนับ เวลา ฯลฯ
            นอกจากนี้การพาเด็กไปตลาดเพื่อจับจ่ายซื้อของ ไปสถานที่ต่าง ๆ เช่น สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ วัด สวนสัตว์ เป็นต้น เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์เช่น ขนาด จัดประเภท จัดหมวดหมู่ การนับ การวัด เซท การจัดเรียงลำดับ ตัวเลขและจำนวน รวมถึงการที่เด็กจะได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านอารมณ์ ด้านภาษา ฯลฯ ไปพร้อม ๆ กันด้วย อีกทั้งเด็กได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
   

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สื่อประกอบการจัดกิจกรรมเพื่อการพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย

             สื่อ วัสดุ อุปกรณ์และภาพแวดล้อมต่าง ๆ มีความสำคัญต่อการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะสื่อฯ เป็นตัวกลาง(รูปธรรม)ที่จะช่วยให้ครูสามารถสอน อธิบาย ยกตัวอย่าง หรือจัดกิจกรรม ที่เป็นนามธรรม ให้เด็กเข้าใจได้รวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้นจดจำได้ดีขึ้น และเรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้  นอกจากนี้สื่อฯ ช่วยให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง เกิดการเรียนรู้และค้นพบด้วยตนเอง
             การใช้สื่อสำหรับเด็กปฐมวัยต้องเริ่มต้นจาก
                1. การใช้สื่อที่เป็นของจริง (สามมิติหรือมากกว่า)
                2. การใช้สื่อที่เป็นของจำลอง(สองมิติ)
                3. การใช้สื่อที่เป็นภาพ หรือสัญลักษณ์(มิติเดียว)
            การเลือกสื่อเพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย
                1. เลือกให้ตรงกับจุดมุ่งหมายและเรื่องที่จะสอน
                2. เลือกให้เหมาะกับวัยและความสามารถของเด็ก
                3. เลือกให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นหรือสถานศึกษา
                4. เลือกใช้สื่อที่ครู / เด็กใช้แล้วเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาไม่มาก
                5. เลือกใช้สื่อที่เด็กสามารถจับต้องสัมผัสได้ (ของจริง)
                6. เลือกใช้สื่อที่มีคุณภาพดี ขนาดพอเหมาะมีความคงทนถาวร
                7. เลือกใช้สื่อที่มีความปลอดภัย และมีราคาไม่แพง
                8. เลือกใช้สื่อที่มีวิธีการใช้ง่ายและนำไปใช้ได้ในหลายสถานการณ์หรือหลายกิจกรรม
                9. เลือกใช้สื่อที่มีความถูกต้องตามเนื้อหา และมีความทันสมัย
                10. เลือกใช้สื่อที่ส่งเสริมการคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นและกล้าแสดงออก
            ข้อควรระวังในการเลือกสื่อ
               1. วัสดุที่ใช้ต้องไม่มีสารพิษและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็ก
               2. ขนาดพอเหมาะ  น้ำหนักไม่มากเกินไป
               3. รูปทรงไม่แหลม หรือมีเหลี่ยม
               4. สีที่ใช้ต้องไม่เป็นอันตรายต่อสายตา
            การจัดหาสื่อ สามารถทำได้ดังนี้
               1. ของยืม
               2. จัดซื้อ
               3. ผลิตด้วยตนเอง
               4. ให้นักเรียนมีส่วนร่วม
               5. ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม
            การใช้สื่อในการดำเนินกิจกรรมควร
               1. มีการเตรียมความพร้อมก่อนใช้สื่อ
                   1.1 เตรียมครูผู้สอน เช่นศึกษาจุดมุ่งหมายของการใช้สื่อและวางแผนการจัดกิจกรรม จัดหาหรือจัดเตรียมสื่อและวัสดุอื่น ๆ ให้พร้อม และทดลองใช้สื่อก่อนนำไปใช้จริง
                   1.2 เตรียมตัวเด็ก  เช่นกระตุ้นความสนใจของเด็กก่อนโดยการใช้คำถาม ฯลฯ เพื่อให้ทราบว่าเด็กมีความพร้อมหรือมีความรู้เดิมที่สัมพันธ์กับเรื่องใหม่ที่จะสอนหรือไม่ สอนให้เด็กรู้จักสื่อวิธีการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบในการใช้สื่อ
                   1.3 เตรียมสื่อให้พร้อมก่อนนำไปใช้  เช่นตรวจสอบความแข็งแรงคงทน ความปลอดภัยและจัดลำดับการใช้สื่อว่าจะใช้อะไรตอนไหนและอย่างไรรวมถึงการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ร่วมกันกับสื่อหลักให้พร้อม
        
               2. การนำเสนอสื่อ
                   2.1 สร้างความพร้อมและกระตุ้นความสนใจของเด็กก่อน โดยการใช้คำถามหรือเทคนิคอื่น ๆ ที่เหมาะสม
                   2.2 ใช้สื่อตามลำดับ
                   2.3 ใช้แล้วเก็บไม่ควรให้เด็กเห็น
                   2.4 ควรยืนอยู่ด้านข้างหรือด้านหลังสื่อ
                   2.5 เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการใช้สื่อ
            หลังจากการใช้สื่อทุกครั้งควรเก็บรักษาให้สะอาดเรียบร้อยและเป็นระเบียบ ควรมีการตรวจสอบ ซ่อมแซมสื่อทุกครั้งก่อนการใช้งานหรือหลังการใช้งาน รวมทั้งมีการประเมินคุณภาพของสื่อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยว่าใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กมาเพียงใด เด็กให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน


สื่อการสอนเกี่ยวกับจำนวนและตัวเลข
           

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ทักษะคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย

          การส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ให้แก่เด็กปฐมวัยนั้นครูหรือผู้เกี่ยวข้องควรทราบว่ามีทักษะจำเป็นอะไรบ้างที่เด็กปฐมวัยควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กต่อไป   ทักษะที่เด็กปฐมวัยควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนานั้นอาจแบ่งเป็น ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ และทักษะพื้นฐานการคิดคำนวณ
          ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ที่จำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัยมี 7 ทักษะ ได้แก่
               1. ทักษะการสังเกต(Observation)
                   คือการใช้ประสาทสัมผัสในการเรียนรู้ โดยเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับวัตถุสิ่งของหรือเหตุการณ์อย่างมีจุประสงค์ เช่น การจะหาข้อมูลที่เป็นรายละเอียดของสิ่งนั้น ๆ โดยไม่ใส่ความคิดเห็นของตนเองลงไป
               2. ทักษะการจำแนกประเภท(Classifying)
                   คือ ความสามารถในการแบ่งประเภทของสิ่งของ โดยหาเกณฑ์หรือสร้างเกณฑ์ในการแบ่งขึ้น  ส่วนใหญ่เด็กจะใช้เกณฑ์ในการจำแนกอยู่ 3 อย่าง คือ ความเหมือน ความแตกต่าง และความสัมพันธ์ร่วม ซึ่งแล้วแต่เด็กจะเลือกใช้(ดังนั้นครุควรถามเมื่อจัดกิจกรรมทั้งนี้เพื่อให้ประเมินเด็กได้อย่างถูกต้อง) ซึ่งเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่จะเลือกใช้เกณฑ์ 2 อย่าง คือ ความเหมือน และความต่าง เมื่อเด็กสามารถสร้างความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้เกี่ยวกับความสัมพันธ์แล้วเด็กจึงจะจำแนกโดยใช้ความสัมพันธ์ร่วมได้
               3. ทักษะการเปรียบเทียบ(Comparing)
                   คือ การที่เด็กต้องอาศัยความสัมพันธ์ของวัตถุสิ่งของหรือเหตุการณ์ ตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไป บนพื้นฐานของคุณสมบัติที่มีลักษณะเฉพาะอย่าง เช่น เด็กสามารถบอกได้ว่าลูกบอลลูกหนึ่งมีขนาดเล็กกว่าลูกอีกลูกหนึ่ง นั่นแสดงให้เห็นว่า เด็กเห็นความสัมพันธ์ของลูกบอล คือ เล็ก - ใหญ่ ความสำคัญในการเปรียบเทียบ คือ เด็กจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้น ๆ และรู้จักคำศัพท์คณิตศาสตร์  การเปรียบเทียบนับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเรียนในเรื่องการวัดและการจัดลำดับ
               4. ทักษะการจัดลำดับ(Ordering)
                   คือ การส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาความคิดรวบยอดเกี่ยวกับการจัดลำดับวัตถุสิ่งของหรือเหตุการณ์ ซึ่งเป็นทักษะการเปรียบขั้นสูง เพราะจะต้องอาศัยการเปรียบเทียบสิ่งของมากกว่าสองสิ่งหรือสองกลุ่ม การจัดลำดับในครั้งแรก ๆ ของเด็กปฐมวัยจะเป็นไปในลักษณะการจัดกระทำกับสิ่งของสองสิ่ง เมื่อเกิดการพัฒนาจนเกิความเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วเด็กจึงจะสามารถจัดลำดับที่ยากยิ่งขึ้นได้
               5. ทักษะการวัด(Measurement)
                   เมื่อเด็กมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดประเภท การเปรียบเทียบ และการจัดลำดับมาแล้ว เด็กจะพัฒนาความสามารถเข้าสู่เรื่องการวัดได้ ความสามารถในการวัดของเด็ก จะมีความสัมพันธ์กับความสามารถใสนการอนุรักษ์(ความคงที่) เช่น เด็กสามารถเข้าใจเกี่ยวกับความยาวของเชือกได้ว่า เชือกจะมีความยาวเท่าเดิมถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนทิศทางหรือตำแหน่งก็ตาม
               6. ทักษะการนับ(Counting)
                   แนวคิดเกี่ยวกับการนับจำนวน ได้แก่ การนับปากเปล่า บอกขนาดของกลุ่มที่มีขนาดเท่ากันโดยไม่ต้องนับ  นับโดยใช้ลำดับที่นับจำนวนเพิ่มขึ้น  นับเพื่อรู้จำนวนที่มีอยู่ การจดตัวเลข  การนับและเข้าใจความหมายของจำนวน  การใช้สัญลักษณ์แทนจำนวน ในเด็กปฐมวัยชอบการนับแบบท่องจำโดยไม่เข้าใจความหมาย การนับแบบท่องจำนี้จะมีความหมายต่อเมื่อเชื่อมโยงกับจุดประสงค์บางอย่าง เช่น การนับจำนวนเพื่อนในห้องเรียน นับขนมที่อยู่ในมือ แต่การนับของเด็กอาจสับสนได้หากมีการจัดเรียงสิ่งของเสียใหม่ เมื่อเด็กเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์(จำนวน)แล้วเด็กปฐมวัยจึงจะสามารถเข้าใจเรื่องการนับจำนวนอย่างมีความหมาย
               7. ทักษะเกี่ยวกับเรื่องรูปทรงและขนาด(Sharp and Size)
                   เรื่องขนาดและรูปทรงจะเกิดขึ้นกับเด็กโดยง่าย ทั้งนี้เนื่องจากเด็กคุ้นเคยจากการเล่น การจับต้องสิ่งของ ของเล่น หรือวัตถุรูปทรงต่าง ๆ อยู่เสมอในแต่ละวัน  เราจึงมักจะได้ยินเด็กพูดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรูปทรงหรือขนาดอยู่เสมอ  ครูสามารถทดสอบว่าเด็กรู้จักรูปทรงหรือไม่ได้โดยการให้เด็กหยิบ/เลือก สิ่งของตามคำบอก เมื่อเด็กรูปจักรูปทรงพื้นฐานแล้วครูสามารถสอนให้เด็กรู้จักรูปทรงที่ยากขึ้นได้
                ทักษะพื้นฐานในการคิดคำนวณ สำหรับเด็กปฐมวัยอาจแบ่งได้ 3 ทักษะ
                1. ทักษะในการจัดหมู่
                2. ทักษะในการรวมหมู่(การเพิ่ม)
                3. ทักษะในการแยกหมู่(การลด)