การจัดการเรียนการสอนเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยด้านคณิตศาสตร์นั้นมีความแตกต่างไปจากการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้เนื่องจากเด็กปฐมวัยมีธรรชาติ ความสามารถ ความสนใจ ในการเรียนรู้และรับรู้ที่แตกต่างไปจากเด็กวัยอื่น ๆ เช่นเด็กปฐมวัยไม่สามารถนึกภาพตามที่ครูสอนหรือยกตัวอย่างได้(เด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้จากนามธรรม) เด็กปฐมวัยไม่สามารถนั่งนิ่ง ๆ นาน ๆ ได้(เด็กมีความสนใจสั้นและมีความสามารถในการควบคุมตนเองให้สนใจหรือทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งน้อย) หรือเด็กปฐมวัยมีจินตาการและยึดตนเองเป็นสำคัญค่อนข้างมาก(เด็กมีความเข้าใจเหตุผลความเป็นจริงค่อนข้างน้อยหรืออาจไม่มีในบางคน) เป็นต้น
ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ทุกฝ่ายในการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์แก่เด็กปฐมวัยจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวข้างต้น รวมถึงมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยปฐมวัยพ.ศ. 2546 การวางแผนการจัดกิจกรรม เทคนิควิธีการในการจัดกิจกรรม การใช้สื่อ การจัดสภาพแวดล้อม และการประเมินพัฒนาการ เป็นอย่างดี อีกทั้งต้องเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองในการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์แก่เด็กปฐมวัยอย่างชัดเจนและถูกต้อง จึงจะช่วยให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ได้อย่างมีความสุขสนุกสนานเพลิดเพลิน เกิดความคิดรวบยอดและมีทักษะพื้นฐานที่ดีในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ในระดับชั้นต่อไป
บทบาทของครูปฐมวัยในการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์แก่เด็กปฐมวัยได้แก่
1. การวางแผนการสอน ควรเน้นเด็นเป็นสำคัญ ซึ่งในการวางแผนการสอนหรือการจัดการเรียนรู้เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ให้แก่เด็กปฐมวัยนั้น ครูจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ธรรมชาติ ความสนใจ ความสามารถ ของเด็กปฐมวัย ทั้งนี้เพื่อให้แผนการจัดกิจกรรมนั้นมีความยาก - ง่าย เหมาะสมกับเด็กในแต่ละระดับชั้น นอกจากนี้ครูต้องศึกษาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อจะได้วางแผนการจัดกิจกรรมให้ตรงกับปรัชญา หลักการและจุดมุ่งหมายของการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างถูกต้อง
2. การเตรียมสื่อวัสดุอุปกรณ์ ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการเตรียมสื่อ วัสดุอุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้บ้างตามโอกาสอันสมควร สื่อ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ควรเลือกใช้ของจริง และเป็นของที่เด็กสามารถพบเห็นได้เป็นประจำ หากไม่สามารถจัดหาของจริงได้ควรเลือกใช้ของจำลองหรือของปลอม สำหรับภาพถ่ายหรือภาพวาดนั้นควรเป็นลำดับสุดท้ายในการนำมาใช้เป็นสื่อการจัดกิจกรรม
3. การเตรียมการจัดกิจกรรม ควรเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการเตรียมการจัดกิจกรรมในบางโอกาส เช่น จัดโต๊ะ จัดเก้าอี้ จัดป้ายนิเทศ จัดวางข้าวของที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดกิจกรรม และทำความสะอาด จัดเก็บเมื่อใช้เสร็จแล้ว
4. การดำเนินการจัดกิจกรรม ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือปฎิบัติ ค้นคว้า ทดลอง ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าในการเรียนรู้ หาคำตอบ ด้วยตัวของเด็กเองให้มากที่สุด ซึ่งบทบาทของครูในการดำเนินกิจกรรมนั้นครูควรเป็นผู้ชี้แนะ แนะนำ ช่วยเหลือ มากกว่าการออกคำสั่ง หรือให้เด็กทำตาม ขณะจัดกิจกรรมครูต้องคอยกระตุ้นการเรียนรู้ การคิด การสังเกตุ ฯลฯ ด้วยการตั้งคำถามแบบปลายเปิด เช่น ทำไม......อย่างไร.....เพราะเหตุใด.....อะไรบ้าง......เป็นต้น ครูควรใช้เทคนิควิธีการในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เหมาะกับความสามารและตรงกับความสนใจของเด็ก ซึ่งกิจกรรมที่จัดควรเป็นกิจกรรมที่มีความหมายกับตัวเด็ก สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
5. การวัดผลประเมินผล ขณะดำเนินกิจกรรมนั้น ครูควรสังเกตุ บันทึกพฤติกรรมของเด็กเป็นรายบุคคล เพื่อนำผลที่ได้จากการสังเกตุและบันทึกนั้นมาเป็นแนวทางในการส่งเสริม พัฒนาแก้ไข และปรับปรุง เด็กต่อไป ซึ่งในการวัดผลประเมินผลนั้นครูควรใช้วิธีการที่หลากหลาย รวมถึงการประเมินผลตามสภาพที่แท้จริง เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กที่ถูกต้องเป็นจริง ในการการประเมินเด็กนั้นครูไม่ควรเปรียบเทียบเด็กกับเด็กคนอื่น ๆ และประเมินเด็กโดยรอบด้าน และนำผลที่ได้จากการวัดและประเมินนั้นมาใช้ในการวางแผนการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป
ในการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น คงไม่ประสบความสำเร็จหากไม่ได้รับความร่วมมือหรือความช่วยเหลือจากทางบ้าน ทั้งนี้เพราะคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในขณะที่ครูจัดกิจกรรมที่โรงเรียนเท่านั้น หากแต่เกิดได้ทุกที่ รวมถึงที่บ้านด้วย ดังนั้นเมื่อเด็กอยู่ที่บ้านพ่อแม่ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ กับผู้ใหญ่เพื่อให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้รวมถึงสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลในครอบครัวไปพร้อม ๆ กันด้วย
บทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองในการส่งเสริมพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยเมื่อเด็กอยู่ที่บ้าน เช่น
1. ในครัว พ่อแม่ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการจัดเตรียม การประกอบอาหาร ฯลฯ กิจกรรมในครัวเด็กจะได้พัฒนาทักษะการสังเกตุและเรียนรู้เกี่ยวกับ การนับ การตวง การแบ่ง การจัดเรียงลำดับ เป็นต้น
2. ในสวน พ่อแม่ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการจัดสวน ปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ ฯลฯ กิจกรรมในสวนเด็กจะได้พัฒนาทักษะการสังเกตุและเรียนรู้เกี่ยวกับ การจัดประเภท การจัดหมวดหมู่ การกะระยะ ขนาด เป็นต้น
3. การซักผ้า ล้างรถ เล่นเกม ฯลฯ พ่อแม่ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในครอบครัว เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับการตวง การนับ เวลา ฯลฯ
นอกจากนี้การพาเด็กไปตลาดเพื่อจับจ่ายซื้อของ ไปสถานที่ต่าง ๆ เช่น สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ วัด สวนสัตว์ เป็นต้น เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์เช่น ขนาด จัดประเภท จัดหมวดหมู่ การนับ การวัด เซท การจัดเรียงลำดับ ตัวเลขและจำนวน รวมถึงการที่เด็กจะได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านอารมณ์ ด้านภาษา ฯลฯ ไปพร้อม ๆ กันด้วย อีกทั้งเด็กได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น